Accessibility Tools

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครนายก

Nakhonnayok Juvenile and Family Court

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครนายก

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครนายก

ความเป็นมา     

ก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลจังหวัดนครนายกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด เป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการและวิธีพิจารณาพิเศษตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันและเกิดสองมาตรฐานในการพิจารณาคดีอาญาที่เด็กและเยาวชนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในทางอาญา

            เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับทำให้การพิจารณาคดีอาญาที่เด็กและเยาวชนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาในจังหวัดที่ยังไม่มีการจัดตั้งศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้รับความคุ้มครองที่ใกล้เคียงกับจังหวัดที่มีการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว  พระราชบัญญัติฉบับนี้วางหลักว่า หากจังหวัดใดยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวก็ให้ศาลจังหวัดในจังหวัดนั้น ๆ เพียงหนึ่งศาล นำวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวในส่วนของคดีอาญาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 บางส่วน รวม 63 มาตรา มาใช้บังคับ

            พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ฉบับดังกล่าว มีหลักการสำคัญ ในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 รวม 2 ประการ ดังนี้

            1)  กำหนดให้ศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนืออำเภอที่เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด  มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดนั้น โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 16 มาตรา 24       ถึงมาตรา 31 และบทบัญญัติในหมวด 4 และหมวด 6 ถึงหมวด 9 แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม  เว้นแต่ในท้องที่ที่ยังมิได้มีการจัดตั้งสถานพินิจมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 50    ถึงมาตรา 57 มาตรา 64 มาตรา 79 มาตรา 80 มาตรา 94 และมาตรา 103  มาใช้บังคับ กรณีที่ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ และในท้องที่ที่ยังมิได้มีการจัดตั้งสถานพินิจก่อนที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีตาม          

 

มาตรา 58 (3) จะมีคำพิพากษาในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดซึ่งมีอัตราโทษตามกฎหมายกำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ทำการสืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนนั้นและบุคคลอื่นแล้วรายงานข้อเท็จจริงพร้อมความเห็นให้ศาลทราบเพื่อประกอบการพิจารณา (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 58 (3) และเพิ่มมาตรา 58/1)

            2)  กำหนดให้เปิดทำการศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดและจัดตั้งสถานพินิจ ให้มีเขตอำนาจครอบคลุมทุกจังหวัด ภายใน 3 ปี (มาตรา 7)

            ดังนั้น  เมื่อพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วเป็นผลให้ศาลจังหวัด  รวม 24  ศาล ต้องดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ในขณะเดียวกัน ศาลจังหวัดอีก  7  ศาล ซึ่งมิใช่ศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนืออำเภอที่เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด จะไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอีกต่อไป

            สำหรับศาลจังหวัดที่ต้องนำวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวไปใช้ ได้แก่ ศาลในเขต ภาค1  ศาลจังหวัดชัยนาท ภาค 2 ศาลจังหวัดปราจีนบุรี ศาลจังหวัดนครนายก  ภาค 3      ศาลจังหวัดยโสธร ภาค 4 ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลจังหวัดมุกดาหาร ศาลจังหวัดสกลนคร    ศาลจังหวัดหนองคาย ศาลจังหวัดเลย ศาลจังหวัดมหาสารคาม ภาค 5 ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศาลจังหวัดน่าน ศาลจังหวัดพะเยา ภาค 6 ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ศาลจังหวัดอุทัยธานี           ศาลจังหวัดพิจิตร ศาลจังหวัดตาก ภาค 7 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศาลจังหวัดสมุทรสงคราม ภาค 8 ศาลจังหวัดชุมพร ศาลจังหวัดระนอง ศาลจังหวัดกระบี่ ศาลจังหวัดพังงา และภาค 9 ศาลจังหวัดพัทลุง

            เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549  พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดกระบี่ ศาลจังหวัดชัยนาท ศาลจังหวัดชุมพร ศาลจังหวัดตาก      ศาลจังหวัดนครนายก ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศาลจังหวัดปราจีนบุรี ศาลจังหวัดพะเยา ศาลจังหวัดพังงา ศาลจังหวัดพิจิตร ศาลจังหวัดมหาสารคาม ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน                   ศาลจังหวัดยโสธรและศาลจังหวัดระนอง  พ.ศ. 2549 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 123 ตอนที่ 79 ก วันที่ 4 สิงหาคม 2549 เหตุผลในการประกาศใช้     พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เนื่องจากจังหวัดกระบี่ จังหวัดชัยนาท จังหวัดชุมพร จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดพะเยา จังหวัดพังงา จังหวัดพิจิตร จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร และจังหวัดระนอง  ยังไม่มีการจัดตั้งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวขึ้นไว้โดยเฉพาะการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนและคดีครอบครัวจึงต้องกระทำ

 

ในศาลจังหวัด ทำให้เด็กและเยาวชนและผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ประกอบกับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้ดำเนินการเปิดทำการศาลเยาวชนและครอบครัวหรือแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดให้มีเขตอำนาจครอบคลุมทุกจังหวัดภายในกำหนดสามปี   นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548  ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ สมควรเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดกระบี่ ศาลจังหวัดชัยนาท ศาลจังหวัดชุมพร   ศาลจังหวัดตาก  ศาลจังหวัดนครนายก  ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ศาลจังหวัดปราจีนบุรี   ศาลจังหวัดพะเยา  ศาลจังหวัดพังงา ศาลจังหวัดพิจิตร ศาลจังหวัดมหาสารคาม ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ศาลจังหวัดยโสธร และศาลจังหวัดระนอง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2549   เป็นต้นไป เพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวและโดยที่มาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดใดจะเปิดทำการเมื่อใดให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้[1]

            ศาลจังหวัดนครนายกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ได้เปิดทำการเมื่อวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2549 เป็นต้นมา โดยใช้อาคารที่ทำการศาลจังหวัดนครนายกบางส่วนเป็นที่ทำการชั่วคราว  โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณให้เช่าและปรับปรุงอาคารพาณิชย์      ที่เช่าจากเอกชนเพื่อเปิดทำการเป็นศาลจังหวัดนครนายกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว       เป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 3 คูหา พื้นที่ใช้สอย 703 ตารางเมตร ตั้งอยู่เลขที่ 161, 161/1-2 ถนนนครนายก-รังสิต ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก และได้ประกอบพิธีเปิดป้ายศาลจังหวัดนครนายกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2549  อาคารดังกล่าวประกอบด้วยห้องพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษา ห้องพัก       ผู้พิพากษาสมทบ ห้องพิจารณา จำนวน 2 บัลลังก์ ห้องสืบพยานเด็ก ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ห้องประชุม และห้องธุรการ ขณะนี้มีผู้พิพากษา จำนวน 3 ท่าน  ผู้พิพากษาอาวุโส ๒ ท่าน        ผู้พิพากษาสมทบ  จำนวน 9 ท่าน  ผู้ประนีประนอมประจำศาล จำนวน 4 ท่าน ข้าราชการ    ศาลยุติธรรม จำนวน 18 คน ลูกจ้างประจำ (ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์)  จำนวน  1 คน พนักงานราชการ จำนวน 2 คน  เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลจำนวน  3 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวน 3 คน และแม่บ้านประจำศาล จำนวน  2 คน

 

ศาลจังหวัดนครนายกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั่วทั้งจังหวัดนครนายก ซึ่งมี 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์

            ศาลจังหวัดนครนายกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ด้านครอบครัวในทางแพ่ง รวมทั้งบำบัด  แก้ไข สงเคราะห์เด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดในทางอาญาให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป

              เมื่อพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พุทธศักราช 2553 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 22 พฤษภาคม 2554  ได้เปลี่ยนชื่อศาลใหม่เป็น ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครนายก 

            เมื่อวันที่  21  กันยายน  2561  ศาลจังหวัดนครนายก ได้โอนอาคารที่ทำการศาลจังหวัดนครนายก (หลังเดิม)  ตั้งอยู่ที่ถนนธงไชย  ตำบลนครนายก  อำเภอเมือง  จังหวัดนครนายก  เนื้อที่ จำนวน 6 ไร่เศษ  พร้อมบ้านพักข้าราชการตุลาการ จำนวน 4 หลัง บ้านพักผู้อำนวยการ จำนวน 1 หลัง และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลยุติธรรมจำนวน 12 หน่วยให้กับศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครนายก

            ต่อมาสำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดนครนายก (หลังเดิม)  เป็นอาคารที่ทำการศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครนายก  อาคาร 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  ห้องพักผู้พิพากษา  ห้องพักผู้พิพากษาอาวุโส  ห้องพักผู้พิพากษาสมทบ  ห้องพิจารณาคดี  จำนวน 4  บัลลังก์  ห้องสืบพยานเด็ก ห้องควบคุม  ห้องประชุม  ศูนย์คุ้มครองสิทธิ  ศูนย์ไกล่เกลี่ย  ห้องธุรการ  ห้องสมุด  และห้องที่ปรึกษากฎหมาย โดยใช้งบประมาณในการปรับปรุง จำนวน 30,488,000 บาท (สามสิบล้านสี่แสนแปดหมื่นแปดพันบาทถ้วน) เปิดทำการในวันที่ 20  กันยายน  2562 และได้ประกอบพิธีเปิดป้ายศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครนายก เมื่อวันที่  24  กันยายน  2562  โดยนายสืบพงษ์  ศรีพงษ์กุล  อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 

 

 

[1] อ้างอิง : สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม

P P P P P P P P